ข้อห้ามหลังฉีดโบท็อก
การฉีดโบท็อก (โบทูลินั่ม ท็อกซิน) กำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน เพราะเห็นผลชัดเจน ราคาไม่แพง ปกติโบท็อกจะอยู่ได้นาน 4-6 เดือน ซึ่งในบทความนี้หมอจะเจาะลึกถึงงานวิจัยล่าสุด เกี่ยวกับวิธีปฎิบัติตัวก่อนฉีดโบท็อกและหลังฉีดโบท็อก ที่ทำให้โบท็อกอยู่ได้นานกว่าปกตินะครับ เนื่องจากถ้าคนไข้ละเลยขั้นตอนการปฏิบัติตัวเหล่านี้ จะทำให้ต้องฉีดโบท็อกบ่อยขึ้น ซึ่งนอกจากจะเสียเงินเยอะขึ้นแล้วยังทำให้ดื้อโบท็อกง่ายขึ้นด้วยครับ
ข้อมูลที่ควรศึกษาในการฉีดโบท็อก
ขออธิบายถึงกลไกการออกฤทธิ์ของโบท็อก เพื่อให้เข้าใจวิธีปฎิบัติตัวก่อนฉีด-หลังฉีดโบท็อก ว่าทำเพื่ออะไรนะครับ จะทำให้เราจำได้ง่ายขึ้นครับ
โบท็อก เป็นโปรตีนในน้ำใส ๆ เมื่อฉีดเข้าสู่บริเวณกล้ามเนื้อ จะแยกเป็น 2 ส่วน
ส่วนที่ 1 ที่ถูกดูดซึมเข้าไปเก็บเข้าไว้ในเซลล์ประสาทเท่านั้นที่จะออกฤทธิ์ และถ้าส่วนนี้มีความเข้มข้นสูงก็จะทำให้โบท็อกอยู่ได้นานขึ้นครับ
ส่วนที่ 2 ที่ไม่ถูกดูดซึมจะปลิวไปตามกระแสเลือดภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ชม.หลังฉีด และถูกขับออกไปในที่สุด โดยไม่มีผลต่อเซลล์อื่น ๆ ของร่างกาย(เสียไปฟรี ๆ)
วิธีปฎิบัติตัวก่อนฉีดโบท็อก ที่จะทำให้โบท็อกส่วนที่ 2 ปลิวไปน้อยที่สุด เพื่อจะทำให้ส่วนที่ 1 เข้มข้นขึ้น และอยู่ได้นานกว่าปกติ
1. เลือกใช้โบท็อกแท้เท่านั้น
โบท็อกแท้จะมีการกระจายตัวต่ำ นั่นคือฉีดจุดไหนจะอยู่จุดนั้น จะทำให้การปลิวหายไปเกิดขึ้นน้อยลง ดังนั้นก่อนฉีดทุกครั้งต้องตรวจสอบว่าเป็น “โบท็อกของแท้” นะครับ
ก่อนฉีดเราควรเตรียมศึกษา วิธีสังเกตโบท็อกแท้ยี่ห้อต่าง ๆ และควรให้หมอแกะกล่องเปิดขวด ผสมโบท็อกให้ดูต่อหน้า หลังฉีดควรขอกล่องและขวดกลับบ้าน หรือถ่ายรูปเก็บไว้ตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจว่าฉีดโบท็อกของแท้จริงๆ (หากเป็นคลินิกที่ใช้ของแท้ก็จะยินดีให้คนไข้ตรวจสอบได้แน่นอนครับ)
โบท็อกอเมริกา จะมีค่าการกระจายตัวต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับโบท็อกยี่ห้ออื่น ๆ แต่ราคาก็จะสูงกว่าเท่าตัวครับ ซึ่งหมอมีการเขียนอธิบายอย่างละเอียดใน แฉหมดเปลือก ! วิธีการเลือกใช้โบท็อก อเมริกา/อังกฤษ/เกาหลี และกลโกงโบท็อก!
2. การผสมน้ำเกลือ
(โบท็อกแท้ทุกยี่ห้อ จะมาในรูปแบบสูญญากาศแห้ง ๆ ไม่มีน้ำ ต้องใส่น้ำเกลือลงไปละลายเพื่อดูดออกมาฉีด) ถ้าเจือจางน้ำเกลือมากเกินไป จะทำให้โบท็อกปลิวไปง่ายขึ้น ปริมาณความเข้มขันที่เหมาะสมคือ น้ำเกลือ 2.6 CC ต่อ โบท็อก 100 ยูนิตครับ
ก่อนฉีดควรให้แพทย์ผสมโบท็อกต่อหน้าทุกครั้ง เพื่อจะได้มั่นใจว่าไม่ได้เจือจางน้ำเกลือมากเกินไป ถ้าผสมเป็นน้ำมาแล้ว เราจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเจือจางหรือเข้มข้น
3. เทคนิคการฉีด
ควรเลือกคลินิกที่ได้มาตรฐาน และหมอที่มีความชำนาญในการประเมินกล้ามเนื้อที่จะฉีด ว่าจุดไหนความลึกเท่าไรคือจุดที่เซลล์เส้นประสาทมาเกาะกล้ามเนื้อ ถ้าฉีดไม่ตรงจุด ก็จะได้ผลเหมือนกัน แต่เห็นผลช้าและอยู่ได้สั้นลง เพราะต้องรอโบท็อกแพร่กระจายจากจุดที่ฉีดมายังปลายเซลล์ประสาท
โดยส่วน 2 ที่ปลิวกระจายไปอาจจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาได้ทำให้ดื้อโบท็อกตามมา
4. ไม่ควรใช้จำนวนยูนิตในแต่ละครั้งเกิน 300 ยูนิต
เพราะจะเพิ่มโอกาสที่ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานได้ง่ายขึ้น และ ควรหลีกเลี่ยงเทคนิคการฉีดที่ไม่ได้ฉีดโบท็อกเข้าในกล้ามเนื้อโดยตรง เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการดื้อยา และไม่ควรใช้จำนวนยูนิตน้อยเกินไปในแต่ละจุด เพราะจะทำให้หมดฤทธิ์ไวและต้องฉีดบ่อยขึ้นก็จะเสี่ยงต่อการดื้อโบท็อกได้เช่นกันครับ ซึ่งหมอจะเป็นผู้ประเมินและแจ้งคนไข้ครับว่าควรใช้กี่ยูนิต จึงจะเหมาะสม
5. ระหว่างการฉีด
ควรประคบด้วยความเย็น เพื่อลดการไหลเวียนของเส้นเลือดรอบ ๆ บริเวณที่ฉีด จะทำให้โบท็อกอยู่เฉพาะจุดที่หมอต้องการจะฉีด ไม่ปลิวออกไป
6. หลังฉีดโบท็อกควรปฎิบัติตัวแบบไหนที่จะทำให้ โบท็อกสลายช้าที่สุด
6.1 หลังฉีดโบท็อกทันทีในแต่ละบริเวณ ควรรีบขยับเกร็งกล้ามเนื้อที่ฉีดทันที 1-2 ครั้ง
และหลังจากฉีดเสร็จทั้งหมด ควรบริหารกล้ามเนื้อทั้งหมดที่ฉีดเป็นเวลา 30 นาที เพื่อให้โบท็อกถูกเซลล์ประสาทดูดเข้าไปให้มากที่สุด เหลือส่วนที่จะปลิวไปน้อยที่สุด แต่ช่วงหลังฉีดที่ขยับกล้ามเนื้อ ก็ไม่ควรประคบเย็นเพราะจะขัดขวางการดูดโบท็อกเข้าเซลล์ประสาท (นั่นคือเราใช้ความเย็นบล็อกรอบ ๆ ตอนฉีด แล้วขยับกล้ามเนื้อหลังฉีดเพื่อดึงโบท็อกเข้าเซลล์ครับ)
หลังฉีด เราควรรีบขยับกล้ามเนื้อแบบในรูปฝั่งซ้ายมือทันทีครับ ถ้าฉีดกรามก็ใช้วิธีเคี้ยวหมากฝรั่งหรือกัดฟันทันทีหลังฉีด
6.2 หลังฉีดโบท็อกควรงดนอนราบ 3 ชม.
หลังฉีดโบ หน้าบวมได้เป็นปกติครับ ให้ดูแลตัวเองอย่าแกะเกานวดบริเวณที่ฉีด รวมทั้งงดการก้มหัวลงต่ำกว่าระดับหัวใจเพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนมาที่หน้าเยอะขึ้น โบท็อกจะปลิวไปเยอะขึ้น
สำหรับโบท็อกส่วนที่ 1 ที่อยู่ในเซลล์ประสาท ทำหน้าที่ยับยั้งกล้ามเนื้อ จะต้องใช้เวลา 7-14 วัน กว่าที่จะเริ่มเห็นผลการยับยั้งการทำงานของกล้ามเนื้อ และความเข้มข้นของโบท็อก จะค่อย ๆ ลดลงตามเวลา ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โบท็อกย่อยสลายไวขึ้น คือ ความร้อน และการไหลเวียนของเลือด (Metabolism)
7. ควรหลีกเลี่ยงความร้อนทุกชนิดและกิจกรรมที่ทำให้หน้าแดง
โดยเฉพาะในช่วง 2 อาทิตย์แรกหลังฉีด (หากทำไม่ได้ก็ขออย่างน้อย 48 ชม.หลังฉีดครับ) เช่น เข้าซาวน่า, ออกกำลังกายหนัก ๆ, ตากแดด, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, เลเซอร์ร้อนที่ลงผิวชั้นลึกทุกชนิด เช่น RF Thermage งดนอนคว่ำ, งดก้มหัวต่ำกว่าอก
หลังฉีดโบท็อกห้ามกินอะไรบ้าง ในระยะ 14 วันหลังฉีด (ถ้าทำไม่ได้ก็ควรงดอย่างน้อย 48 ชม.)
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เหล้า เบียร์ ไวน์ น้ำหมัก
- หมูกะทะ ปิ้งย่าง ชาบู ที่ต้องนั่งหน้าเตาร้อน ๆ
- อาหารที่เผ็ดมาก ๆ แสบร้อนจนหน้าแดง
- อาหารหมักดอง เพราะมีสารที่ทำให้เส้นเลือดขยายตัว เช่น ปลาร้า หน่อไม้ดอง มะม่วงดอง
- งดสูบบุหรี่ ในบุหรี่มีสารหลายชนิดที่ขยายหลอดเลือด
ในกรณีหลังจาก 2 อาทิตย์ไปแล้ว กิจกรรมเหล่านี้จะส่งผลต่ออายุของโบท็อกได้บ้าง แต่ไม่มาก ที่มีผลมากที่สุดคือ การเข้าซาวน่า และเลเซอร์ร้อน ส่วนกิจกรรมอื่น ๆ ไม่จำเป็นต้องงด เช่น การงดออกกำลังการเพื่อทำให้โบท็อกอยู่ได้นานขึ้นอันนี้ไม่คุ้มครับ เพราะการออกกำลังกายดีต่อสุขภาพ และช่วยให้ผิวใสขึ้น แค่หลีกเลี่ยงความร้อนเท่าที่ทำได้ก็พอครับ
หลังฉีดโบท็อกควรหลีกเลี่ยงความร้อนและกิจกรรมที่ทำให้หน้าแดงทุกชนิดเป็นเวลา 14 วันครับ (หากทำไม่ได้ก็ขออย่างน้อย 48 ชม. หลังฉีดครับ)
หากมีคอร์สทำหน้า นวดหน้า หรือคอร์สเลเซอร์ที่ต้องทำเป็นประจำ ควรถือโอกาสทำมาก่อนฉีดโบท็อก เพราะหลังฉีดจะต้องงดไป 2 อาทิตย์ จึงจะทำต่อได้
8. ในงานวิจัยพบว่าการกินแร่ธาตุ zinc 50 mg ก่อนและหลังการฉีดโบท็อก ช่วยให้โบท็อกออกฤทธ์ไวขึ้น ออกฤทธิ์ดีขึ้น
และช่วยให้โบท็อกอยู่ได้นานขึ้น แต่ในบางเคสก็ทำให้เกิดผลข้างเคียงของโบท็อกได้มากขึ้นครับ เพราะเสริมฤทธิ์รุนแรงเกินไป ดังนั้นในการกินธาตุสังกะสีปริมาณมาก ๆ จึงแนะนำให้กินตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้นนะครับ ส่วนมากจะใช้ในเคสที่มีอาการขาดแร่ธาตุสังกะสีชัดเจน หรือเคสที่เริ่มดื้อโบท็อก(อาการคือฉีดแล้วอยู่ได้ไม่นาน) เท่านั้นครับ
แต่หากกินจากอาหารหรือกินในปริมาณปกติตามที่ Thai RDA กำหนด คือไม่เกิน 15-20 mg/วัน ก็สามารถกินเสริมได้ปกติครับ ในคนที่สังเกตุตัวเองว่ามีอาการขาดธาตุสังกะสี เช่น ผมร่วงแตกปลาย, เป็นแผลเรื้อรัง, ผิวแห้งลอก, เป็นผื่นง่าย, เล็บแห้งเปราะหักง่าย, ก็แนะนำให้กินก่อนหรือหลังฉีดโบท็อกได้ครับ จะช่วยให้โบท็อกอยู่ได้นานขึ้นครับ
ข้อมูลเกี่ยวกับแร่ธาตุสังกะสีในอาหาร
- เนื้อสัตว์ อาหารทะเล 1.5-4 mg/100 g
- หอยนางรม 75 mg/100 g
- ตับ 4-7 mg/100 g
- ไข่แดง 1.5 mg/100 g
- ในพืชผักผลไม้มีปริมาณน้อยและดูดซึมได้ยาก
การทำงานของโบท็อกที่อยู่ในเซลล์ประสาท จะต้องอาศัยแร่ธาตุ zinc (สังกะสี) เป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งในการสำรวจคนอเมริกันพบว่า 30% มีอาการขาดธาตุสังกะสี (ยังไม่มีการสำรวจในคนไทย) ซึ่งจะทำให้โบท็อกออกฤทธิ์ได้ช้าลง ออกฤทธิ์ได้น้อยลง และผลโบท็อกอยู่ได้สั้นลง https://www.ncbi.nlm.nih.gov/m/pubmed/22453589/
จากข้อมูลจะเห็นว่ามีคนไทยจำนวนไม่น้อยเลยครับที่น่าจะขาดแร่ธาตุสังกะสี และยิ่งอายุมากขึ้นก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการขาดธาตุสังกะสีมากขึ้นอีกครับ
9. ควรฉีดโบท็อกต่อเนื่องในระยะที่เหมาะสม
ไม่ฉีดถี่เกินไป (อย่างต่ำควรเว้น 3 เดือน) และไม่เว้นระยะห่างเกินไป (ไม่ควรเว้นเกิน 5-6 เดือน) เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อกลับมาทำงานได้ปกติ และอาจจะต้องใช้ยูนิตของโบท็อกเยอะขึ้น
10. หลังฉีดโบท็อกในแต่ละจุด ควรรีบขยับเกร็งกล้ามเนื้อที่ฉีดทันที 1-2 ครั้ง
และหลังจากฉีดเสร็จควรบริหารกล้ามเนื้อทั้งหมดที่ฉีดเป็นเวลา 20 นาที แต่หลังจากนั้นให้พยายามเปลี่ยนนิสัยในการขยับกล้ามเนื้อจุดนั้น ๆ ให้น้อยลง เช่นพยายามไม่เคี้ยวอาหารเหนียว ๆ โดยไม่จำเป็น เพราะการที่เรากระตุ้นกล้ามเนื้อบ่อย ๆ จะทำให้เซลล์เส้นประสาทงอกขึ้นมาใหม่ได้ ถึงแม้โบท็อกจะยังไม่หมดฤทธิ์เซลล์ประสาทที่งอกมาก็จะสามารถขยับกล้ามเนื้อได้ อีกทั้งการขยับกล้ามเนื้อยังเพิ่มการไหลเวียนกระแสเลือดในบริเวณนั้น ๆ ทำให้โบท็อกส่วนที่ 1 ที่ถูกเก็บไว้ในเซลล์ประสาท สลายไปได้ไวขึ้นครับ
กล้ามเนื้อที่ไม่ได้ใช้งานต่อเนื่องนาน ๆ เมื่อเวลาผ่านไปขนาดกล้ามเนื้อจะเล็กลง และกลับมาทำงานได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้โบท็อกอยู่ได้นานขึ้น แต่ถ้ากล้ามเนื้อถูกกระตุ้นให้ใช้งานบ่อยเช่น ยิ้มบ่อย เลิกคิ้วบ่อย (มักพบในคนที่เล่นสนุกเก้อ หรือเคี้ยวอาหารเหนียว ๆ นาน ๆ โดยไม่จำเป็น กล้ามเนื้อก็จะแข็งแรงขึ้นและทำให้โบท็อกอยู่ได้สั้นลง
สรุป timeline ข้อปฎิบัติตัวในการฉีดโบท็อก
ก่อนฉีดโบท็อก
- ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ “โบท็อกแท้” ตาม ข้อ 1, ข้อ 2
- ควรเลือกคลินิกที่ได้มาตรฐาน-หมอที่มีความชำนาญตาม ข้อ 3, ข้อ 4.
- หากมีคอร์สทำหน้า นวดหน้า หรือคอร์สเลเซอร์ที่ต้องทำเป็นประจำ ควรถือโอกาสทำมาก่อนฉีดโบท็อก เพราะหลังฉีดจะต้องงดไป 2 อาทิตย์ จึงจะทำต่อได้
- ควรงดยาในกลุ่มที่ลดการแข็งตัวของเลือดเช่น NSAIDs, แอสไพริน และงดสครับหน้า 2-3 วันก่อนฉีด จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเขียวช้ำ
- หากมีข้อห้ามในการฉีดโบท็อกให้ปรึกษาแพทย์
- หากมีอาการขาดธาตุสังกะสีตาม ข้อ 8. ควรเริ่มกินอาหารที่มีธาตุสังกะสี หรือกินอาหารเสริม แต่ไม่ควรกินเกิน 20 mg/วัน ซึ่งจะช่วยให้โบท็อกออกฤทธิ์ได้ไวขึ้น (ไม่จำเป็นต้องกินก่อนฉีด สามารถกินหลังฉีดก็ได้ ก็สามารถช่วยให้โบท็อกอยู่ได้นานขึ้นเช่นกัน)
ระหว่างฉีดโบท็อก
- หลังฉีดโบท็อกในแต่ละบริเวณเสร็จทันที ควรรีบขยับเกร็งกล้ามเนื้อที่ฉีดแล้วทันที 1-2 ครั้ง ตามข้อ 6.1
- หลังจากฉีดเสร็จทั้งหมด ควรบริหารกล้ามเนื้อทั้งหมดที่ฉีด เช่น ยักคิ้ว ขมวดคิ้ว ยิ้มเยอะ ๆ เคี้ยวหมากฝรั่ง เป็นเวลา 30 นาทีหลังฉีด
หลังฉีดโบท็อก 3 ชม.
- ไม่ควรประคบเย็นเพราะจะขัดขวางการดูดโบท็อกเข้าเซลล์ประสาท ตามข้อ 6.1
- ไม่ควรนอนราบ รวมทั้งงดการก้มหัวลงต่ำกว่าระดับหัวใจ ตามข้อ 6.2
หลังฉีดโบท็อก 24 ชม.
- สามารถทาครีมทับบริเวณเข็มได้ และแต่งหน้าทับได้ปกติ
หลังฉีดโบท็อก 48 ชม.
- หากสามารถหลีกเลี่ยงอาหารและความร้อน ตามข้อ 7 ได้ ก็จะได้รับผลโบท็อก 90 % จากปกติแล้ว
หลังฉีดโบท็อก 2-3 วัน
- บางคนอาจมีผลข้างเคียงชนิดไม่อันตรายเช่น ปวดหัว ตาพร่า คอแห้ง ซึ่งผลข้างเคียงนี้เป็นแค่ชั่วคราวจะหายได้เองใน 7-14 วัน หากอาการเป็นมากสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาได้ อาการปวดหัวสามารถประคบเย็นได้
- บางคนจะเริ่มเห็นผลจากการฉีดลดริ้วรอยบางส่วน
หลังฉีดโบท็อก 7-10 วัน
- หลังฉีดโบ หน้าบวมได้เล็กน้อย รอยเขียวช้ำอาจจะยังมีอยู่จะค่อยๆจางลงเองใน 14 วัน ไม่ควรประคบร้อน
หลังฉีดโบท็อก 14 วัน
- หากสามารถหลีกเลี่ยงอาหารและความร้อน ตามข้อ 7 ได้ครบ 14 วัน ก็จะได้รับผลโบท็อก 100% จากปกติ
- เห็นผลจากการฉีดโบท็อกลดริ้วรอยเกือบเต็มที่แล้ว
- เห็นผลจากการฉีดโบท็อกลดกรามคือ กัดกรามจะไม่เด้ง แต่กรามจะยังไม่ยุบลง ต้องใช้เวลา 2 เดือนจึงจะยุบเต็มที่
หลังฉีดโบท็อก 14 วัน จนถึงการฉีดโบท็อกครั้งต่อไป
- สามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ และพยายามหลีกเลี่ยงความร้อน
- พยายามกินอาหารที่มีแร่ธาตุสังกะสี ตามข้อ 8.
- ควรฉีดโบท็อกต่อเนื่องในระยะที่เหมาะสม ไม่ฉีดถี่เกินไป(อย่างต่ำควรเว้น 3 เดือน) และไม่เว้นระยะห่างเกินไป (ไม่ควรเว้นเกิน 5-6 เดือน) ตามข้อ 9.
- ให้พยายามเปลี่ยนนิสัยในการขยับกล้ามเนื้อจุดที่ฉีดโบท็อก ให้น้อยลง ตามข้อ 10.
[ข้อห้ามการฉีดโบท็อก] อ้างอิงจาก
https://www.allergan.com/miscellaneous-pages/allergan-pdf-files/botox_med_guide
https://www.drugs.com/drug-interactions/onabotulinumtoxina,botox-index.html
ข้อห้ามการฉีดโบท็อก แบบที่ไม่สามารถฉีดได้ (Absolute contraindication)
- คนที่มีปัญหาเรื่อง โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง อาจจะอันตรายถึงชีวิต
- คนที่มีปัญหาเรื่อง กล้ามเนื้อในการกลืน
- คนที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงต่างๆ เช่น
- amyotrophic lateral sclerosis (ALS)
- Lou Gehrig’s disease
- myasthenia gravis
- Lambert-Eaton syndrome
- มีอาการติดเชื้อที่ผิวหนังในจุดที่จะฉีดโบท็อก
- มีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือ มีภาวะติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
ข้อห้ามการฉีดโบท็อก แบบที่ควรระวัง สามารถฉีดได้แต่ต้องปรึกษาแพทย์ก่อน
- มีประวัติเคยแพ้ส่วนผสมของโบท็อก
- โบท็อกประกอบด้วย : Botulinum toxin type A, Human albumin, Sodium chloride
- ในคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ยังไม่มีการศึกษาที่รับรองความปลอดภัยของการฉีดโบท็อก
- สำหรับคนที่อายุ 12-18 ปี มีการศึกษารับรองความปลอดภัยในบางกรณีเท่านั้น (ควรปรึกษาแพทย์ก่อน)
ข้อมูลอื่น ๆ ที่คนไข้ควรแจ้งแพทย์
- เคยมีผลข้างเคียงจากการฉีดโบท็อกครั้งก่อน ๆ
- มีภาวะเลือดหยุดยาก เขียวช้ำง่าย
- มีกำหนดการที่จะผ่าตัด
- เคยผ่าตัดที่ใบหน้ามาก่อน
- มีภาวะหนังตาตกอยู่
- หัตถการต่าง ๆ ที่เคยทำบนใบหน้ามาก่อน เช่น โบท็อก ฟิลเลอร์ ร้อยไหม เมโส เลเซอร์ต่าง ๆ
- อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการศึกษายืนยันว่าโบท็อกเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือไม่
- ให้นมบุตร ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการศึกษายืนยันว่าโบท็อก สามารถผ่านไปทางน้ำนมได้หรือไม่
ควรแจ้งแพทย์ถึงยาที่คนไข้ใช้อยู่ปัจจุบัน
ยาที่ได้รับพร้อมกับโบท็อกแล้วเกิดอันตรายมาก (Major side effect)
- กลุ่มยาฆ่าเชื้อ”แบบฉีด” บางตัว
ไม่ใช่เพราะว่าเชื้อโบท็อกจะโดนทำลายแบบความรู้ผิดๆที่เผยแพร่ในอินเตอเน็ตนะครับ แต่ยาฆ่าเชื้อบางตัวสามารถเสริมฤทธิ์โบท็อกแล้วเกิดอันตรายได้ ห้ามใช้ร่วมกับโบท็อก ได้แก่ amikacin, colistin, polymyxin E, gentamicin, kanamycin, neomycin, netilmicin, plazomicin, polymyxin B, spectinomycin, streptomycin, tobramycin.
- กลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อ
atracurium, cisatracuirum, doxacurium, metocurine, mivacurium, pancuronium, pipecuronium, rapacuronium, rocuronium, succinylcholine, tubocurarine, vecuronium.
ยาฆ่าเชื้อและยาคลายกล้ามเนื้อที่อยู่นอกรายการข้างต้นนี้สามารถใช้ร่วมกันกับโบท็อกได้โดยไม่อันตราย
กลุ่มยาที่ใช้ร่วมกับโบท็อกแล้วอาจเกิดผลข้างเคียงแบบปานกลาง ไม่อันตราย เช่น ตาพร่า ปากแห้ง รอยช้ำ (ถ้าอาการรุนแรงก็สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อปรับชนิดยาที่ใช้ได้ครับ) ได้แก่ กลุ่มยาแก้แพ้ แก้หวัด, กลุ่มยานอนหลับ, กลุ่มยาต้านเกร็ดเลือด
และหลังฉีดโบท็อกไป ในระยะ 4 เดือน ถ้าจะรับยาอื่น ๆ เพิ่มต้องแจ้งแพทย์ที่จะจ่ายยาด้วยว่าเพิ่งฉีดโบท็อกมาครับ
เอกสารอ้างอิง
1. Mark Hallett. (2015). Explanation of Timing of Botulinum Neurotoxin Effects, Onset and Duration, and Clinical Ways of Influencing Them. แหล่งข้อมูล:https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4658210/?report=classic
2. Briefel RR, Bialostosky K, Kennedy-Stephenson J, McDowell MA, Ervin RB, Wright JD. (1988-1994). Zinc intake of the U.S. population: findings from the third National Health and Nutrition Examination Survey, The Journal of nutrition. 2000 May;130(5S Suppl):1367S–73S.
3. นพ. วัลลภ พรเรืองวงศ์. (2522). พบคนไทยเสี่ยงขาดธาตุสังกะสี(zinc). แหล่งข้อมูล:https://www.gotoknow.org/posts/304343
4. Flynn TC. Am J Clin Dermato. (2010). Botulinum toxin: examining duration of effect in facial aesthetic applications. แหล่งข้อมูล:https://www.ncbi.nlm.nih.gov/m/pubmed/20369902/
5. Eleopra R, Tugnoli V, De Grandis D, (1997).The variability in the clinical effect induced by botulinum toxin type A: the role of muscle activity in humans. Mov Disord 12(1) 89–94.
6. Simpson L, (2013). The life history of a botulinum toxin molecule. Toxicon Jun 68:40–59.