สิวหัวดำ
แม้ว่าสิวหัวดำ (Blackheads) ไม่ได้เป็นสิวชนิดรุนแรง แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็สร้างความรำคาญใจต่อเจ้าของใบหน้าไม่น้อยครับ เพราะหัวสิวจะมีสีดำเข้มมองเห็นชัด ทำให้ใบหน้าดูไม่เรียบเนียน และถ้าหากแก้ด้วยการกดสิวอุดตันหัวดำผิดวิธี ก็อาจทิ้งรอยดำสิวหรือหลุมสิวไว้ได้ครับ
สำหรับใครที่ต้องการรักษาสิวหัวดำอย่างตรงจุด หมอมี 7 วิธีรักษาสิวหัวดำมาแนะนำ พร้อมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจวิธีการรักษาสิวอุดตันหัวดำมากยิ่งขึ้น สิวหัวดำ เกิดจากอะไร ? สิวหัวดำ กับ สิวเสี้ยนหัวดำ ต่างกันอย่างไร ? กดสิวหัวดำได้ไหม ? ป้องกัน และดูแลตัวเองอย่างไร ไม่ให้สิวหัวดำกลับมาเป็นซ้ำ
สารบัญ สิวหัวดำ
สิวหัวดำ คืออะไร มีลักษณะอย่างไร ?
สิวหัวดำ (Blackheads) คือ สิวอุดตันประเภทหัวเปิด (Open Comedone) มีลักษณะเป็นตุ่มนูนขนาดเล็ก มีหัวสีดำอยู่ตรงกลางขนาดประมาณ 0.1-3 mm. สามารถมองเห็นชัดด้วยตาเปล่า หัวสิวจะเป็นก้อนแข็ง เป็นไต กดแล้วไม่ยุบ ภายในหัวสิวไม่มีเชื้อโรคหรือแบคทีเรียสะสมอยู่ ไม่มีการอักเสบ เมื่อกดแล้วจึงไม่รู้สึกเจ็บครับ
สิวหัวดำ เกิดจากอะไร ?
สิวหัวดำเกิดจากการสะสมของเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว (Dead Skin Cells and Bacteria) เช่น ขน เนื้อเยื่อ และไขมัน (Sebum) จนทำให้เกิดการอุดตันภายในรูขุมขนครับ ในระยะแรกหัวสิวจะเป็นสีเหลือง แต่จะเปลี่ยนเป็นสีดำในภายหลัง ซึ่งเกิดจากไขมันและเคราตินทำปฏิกิริยาออกซิเดชัน (Oxidation) กับออกซิเจนในอากาศ ทำให้เรามองเห็นหัวสิวเป็นสีดำ
นอกจากนี้สิวอุดตันหัวดำยังมีสาเหตุจากปัจจัยเสริมอื่น ๆ มากระตุ้น เช่น
- การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย เช่น ช่วงมีประจำเดือน, การตั้งครรภ์, ความเครียด, การทานยาคุมกำเนิด, ยาสเตียรอยด์ รวมถึงการพักผ่อนไม่เพียงพอ
- ปัจจัยทางพันธุกรรม โดยเฉพาะในผู้ชาย เนื่องจากมีฮอร์โมนแอนโดรเจนที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของต่อมไขมัน ให้ผลิตน้ำมันออกมามากเกินไป
- สิวหัวดำ ภายในหัวสิวไม่มีเชื้อโรคหรือแบคทีเรียสะสมอยู่ จึงทำให้ร่างกายไม่มีการตอบสนองเพื่อกำจัดสิ่งอุดตันออกมา
- การล้างหน้าไม่สะอาด ล้างเครื่องสำอางออกไม่หมด ทำให้สิ่งสกปรกยังหลงเหลืออยู่บนผิว จนเกิดการสะสมกลายเป็นสิวหัวดำในรูขุมขน
- การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ของมัน ของทอด อาหารรสจัดเป็นประจำ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดสิวอุดตันหัวดำได้
สิวหัวดำ กับ สิวเสี้ยนหัวดำ ต่างกันอย่างไร ?
หลายคนมักสับสนระหว่างสิวหัวดำ กับสิวเสี้ยนหัวดำว่าเป็นสิวชนิดเดียวกัน เพราะมองผิวเผินแล้วมีความคล้ายคลึงกัน แต่ความจริงแล้วเป็นสิวคนละประเภทครับ
สิวเสี้ยนหัวดำ (Trichostasis Spinulosa) คือสิวที่เกิดจากรูขุมขน (Follicle) และต่อมไขมัน (Sebaceous gland) ทำงานผิดปกติ ส่วนมากจะพบบริเวณจมูก โดยจะมีการสร้างเส้นขนในรูขุมขนออกมามากถึง 5-25 เส้นในรูเดียว (ปกติจะมีขนเพียง 1-4 เส้น/1 รูขุมขน) เมื่อเส้นขนเหล่านั้นมาเกาะกับเซลล์ผิวหนังที่ถูกผลัดออกมา รวมถึงไขมันและเคราติน จะทำให้เกิดกลุ่มขนสีดำขนาดเล็กจำนวนมากโผล่ขึ้นมาจากผิวหนัง ทำให้เรามองเห็นเป็นสิวเสี้ยนสีดำ สิวประเภทนี้สามารถใช้ที่กดสิว แผ่นแปะลอกสิวเสี้ยนหรือใช้สกินแคร์ที่มีส่วนผสมของ BHA เพื่อผลัดเซลล์ ช่วยให้สิวเสี้ยนหลุดลอกออกได้
บริเวณที่มักเกิดสิวหัวดำ
บริเวณที่มักเกิดสิวหัวดำส่วนใหญ่จะมีปัญหารูขุมขนกว้างร่วมด้วย ที่พบได้บ่อย ได้แก่
- สิวหัวดำที่หลัง เกิดจากการสะสมของแบคทีเรีย, คราบขี้ไคล, คราบเหงื่อ, การใส่เสื้อผ้าที่แน่นเกินไปจนทำให้อับชื้น เกิดการหมักหมม รวมถึงพันธุกรรมและฮอร์โมน
- สิวหัวดำที่จมูก พบในบริเวณปลายจมูก สัมผัสแล้วจมูกไม่เรียบ บริเวณนี้สามารถใช้ที่กดสิวกดออกได้
- สิวหัวดำที่คาง เป็นจุดที่มักเกิดสิวหัวดำซ้ำซาก โดยเฉพาะในผู้หญิงช่วงมีประจำเดือน เกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือใส่หน้ากากอนามัยเป็นเวลานานทำให้อับชื้น
- สิวหัวดำที่แก้ม พบได้ช่วงเนินแก้มหรือหน้าแก้ม เพราะเป็นจุดที่มีความมันเป็นพิเศษ เกิดจากการสะสมของสิ่งสกปรกจนเกิดการอุดตัน เช่น ฝุ่น มลภาวะ เครื่องสำอาง รวมถึงการใช้สกินแคร์ที่ไม่เหมาะกับผิวจนทำให้เกิดสิวอุดตันครับ
- สิวหัวดำที่หน้าผาก พบมากในคนที่มีผิวมันหรือผิวผสม มีความมันเยอะในบริเวณทีโซน (T Zone) รวมถึงเกิดจากการอุดตันของสิ่งสกปรก, ใส่หมวกหรือผ้าโพกหัวแล้วเกิดการอับชื้น และการดูแลเส้นผม
- สิวหัวดำที่อก มักเกิดจากคราบเหงื่อ การใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป ทำให้อับชื้น รูขุมขนอุดตันจนกลายเป็นสิวหัวดำ
สิวหัวดำ รักษาอย่างไร ?
วิธีรักษาสิวหัวดำมีหลายวิธีครับ ทั้งการทำหัตถการ การใช้เครื่องเลเซอร์ การใช้ครีมรักษาสิว และกินยารักษาสิว โดยจะแบ่งวิธีการรักษาตามความรุนแรงของสิวหัวดำของแต่ละบุคคลตามความเหมาะสม
1. ใช้ยาละลายหัวสิว
ยาละลายหัวสิวกลุ่มยาที่นิยมจะมีอยู่ 2 กลุ่มครับ คือ อนุพันธ์วิตามินเอ ได้แก่ เรตินเอ (Retin A), เรตินอล (Retinol), เรติโนอิก แอคซิด (Retinoic acid), วิตามินเอ (Vitamin A), Tretinion, Epiduo และกรดวิตามินเอที่เป็น Active Form (วิตามินเอสังเคราะห์) ได้แก่ Retinoid Differin หรือ Adapalene และ เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide)
กลุ่มยา 2 ชนิดนี้มีคุณสมบัติในการช่วยผลัดเซลล์ผิว และปรับโครงสร้างผิวชั้นบนสุด (ชั้น keratin) ให้หลุดออก ผิวจึงเรียบเนียนขึ้น ช่วยลดรอยสิว ปรับสีผิวสม่ำเสมอ ลดการอุดตันของเคราตินในรูขุมขน จึงช่วยลดสิวหัวดำ สิวอุดตัน และลดการเจริญเติบโตของเชื้อ C.acnes ลดการอักเสบของสิวได้ครับ
อย่างไรก็ตามกลุ่มยาชนิดนี้สามารถก่อให้เกิดการระคายเคืองได้ง่าย ทำให้ผิวแห้งลอก ผิวไวต่อแสงแดด ควรใช้ครีมกันแดดและมอยเจอร์ไรเซอร์ร่วมด้วย และควรใช้ยาในปริมาณที่เหมาะสม อยู่ในการดูแลของแพทย์ ที่สำคัญยานี้ห้ามใช้ในหญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร เพราะอาจทำให้เกิด Teratogenic Effect ที่ส่งผลอันตรายต่อเด็กในครรภ์ได้
*Tretinoin, Adapalene และ Epiduo คือยากลุ่มเดียวกัน ควรเลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันการหักล้างในกระบวนการออกฤทธิ์ของตัวยา
2. ใช้เวชสำอาง/สกินแคร์ ที่ช่วยผลัดเซลล์ผิว
หากไม่ต้องการใช้ยารักษาสิว กลัวระคายเคือง สามารถใช้เวชสำอางหรือสกินแคร์ที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) เช่น AHA, PHA, BHA และ LHA เพื่อลดสิวหัวดำได้ครับ
- กรด AHA และ PHA เป็นกรดที่ละลายในน้ำ ช่วยผลัดเซลล์ผิวหนังชั้นกำพร้าให้หลุดลอกออกอย่างอ่อนโยน ช่วยให้ผิวเรียบเนียนดูกระจ่างใสขึ้น ลดรอยสิว เหมาะสำหรับคนที่มีผิวแห้ง ผิวระคายเคืองง่าย
- กรด BHA และ LHA เป็นกรดที่ละลายในไขมัน สามารถซึมเข้ารูขุมขนและต่อมไขมัน จึงช่วยละลายน้ำมันส่วนเกินในรูขุมขน และลดการอุดตันในรูขุมขนได้อย่างล้ำลึก ช่วยเร่งการผลัดเซลล์ผิวเร็วขึ้น ใบหน้าเรียบเนียน หน้ามันน้อยลง สิวอุดตัน สิวอักเสบลดลง เหมาะสำหรับคนผิวผสม-ผิวมัน
ทั้งนี้ไม่ควรผลัดเซลล์ผิวบ่อยจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคือง ผิวไวต่อแสงแดดมากขึ้นจำนวนครั้งที่เหมาะสม คือ ไม่ควรใช้เกิน 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ครับ
3. กดสิวหัวดำ
การกดสิวหัวดำ เป็นวิธีที่ช่วยทำให้สิวหัวดำหลุดออกไวขึ้น แต่ไม่ควรเค้นหรือบีบสิวอย่างรุนแรง ควรใช้เครื่องมือกดสิวทางการแพทย์ที่มีความสะอาด ถูกสุขลักษณะ และควรกดโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อลดความเสี่ยงผิวอักเสบ หรือหลุมสิวในอนาคตครับ
4. กินยารักษาสิวหัวดำ
สำหรับคนที่มีสิวหัวดำระดับปานกลางถึงรุนแรง หมออาจพิจารณาจ่ายยาลดสิวให้ เช่น
- กลุ่มยาปฏิชีวนะ Erythromycin, Clindamycin, Tetracycline, Doxycycline เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย C.acnes ที่ก่อให้เกิดสิว
- ยากลุ่มยาอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ เช่น Isotretinoin, โรแอคคิวเทน (Roaccutane), โรแอคคิวเทนแอคโนทิน (Acnotin) เพื่อไปกดการทำงานของต่อมไขมันให้ผลิตไขมัน (Sebum) และยับยั้งการสร้างคอมีโดน (comedone) ให้ผลิตน้ำมันน้อยลง
- ยาปรับฮอร์โมนในร่างกายเพื่อเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิง และลดฮอร์โมนเพศชาย (Anti-Androgenic) ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสิวอุดตันหัวดำ เช่น ยาคุมบางชนิด (Oral Contraceptives) และยากลุ่ม Gonadotropin-Releasing Hormone Agonists (GnRH Agonists)
*ยาที่ใช้ในการรักษาสิว จัดเป็นยาที่อันตราย จำเป็นต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ เพราะจะส่งผลอันตรายต่อทารกในครรภ์ มีผลทำให้เด็กพิการแต่กำเนิดได้
5. เลเซอร์สิวหัวดำ
การเลเซอร์สิวหัวดำ เป็นวิธีที่คล้ายกับการใช้เข็มเจาะสิวครับ แต่เปลี่ยนจากเข็มเป็นการใช้พลังงานแสงแทน เครื่องเลเซอร์สิวที่นิยมใช้ ได้แก่ เลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 Laser, เลเซอร์วีบีม (V beam), พิโคเลเซอร์ (Pico Laser) หลังทำจะช่วยให้สิวหัวดำกดออกง่ายและรวดเร็วขึ้น สามารถกำจัดสิวหัวดำที่ฝังลึกในรูขุมขน พร้อมลดรอยแดงสิวให้จางลง ปรับสีผิวกระจ่างใสขึ้นได้ครับ
6. ฉีดรีจูรัน (Rejuran) รักษาสิวหัวดำ
การฉีดรีจูรัน (Rejuran) เป็นการลดโอกาสการเกิดสิวหัวดำด้วยการนำสารสกัด Polyneucleotide (พอลินิวคลิโอไทด์) หรือ PN ที่มีความเข้มข้น 2% ซึ่ง PN ที่สกัดมาจาก DNA จากปลาแซลมอน (Salmon DNA) มาฉีดเพื่อฟื้นฟูผิวหน้าในระดับชั้นผิวหนังแท้ ตัวยาจะเข้าไปแทนเซลล์ที่เสื่อมสภาพ และทำการซ่อมแซมผิวจากภายใน ช่วยเสริมเกราะป้องกันผิว ฟื้นฟู skin barrier ให้แข็งแรงขึ้น ต้านการอักเสบ สิวอุดตันหัวดำลดลง และช่วยรักษาหลุมสิวให้ตื้นขึ้น (หลุมสิวไม่เกินขนาด 4-5 มม.) ลดขนาดรูขุมขนให้ดูเล็กลงได้ครับ
7. ฉีดมาเด้คอลลาเจน เมโสหน้าใส รักษาสิวหัวดำ
ฉีดมาเด้คอลลาเจน และ เมโสหน้าใส รักษาสิวหัวดำ คือการนำตัวยาที่มีส่วนผสมที่มีประโยชน์ต่อผิวมาฉีดเข้าสู่ชั้นผิวหนังโดยตรง ทำให้เห็นผลลัพธ์เร็วกว่าการบำรุงแบบทั่วไป ซึ่งเมโสหน้าใสแต่ละยี่ห้อจะมีคุณสมบัติที่ต่างกันดังนี้ครับ
- มาเด้คอลลาเจน ( Made Collagen ) : เน้นลดสิว ผดผื่น ลดการอักเสบของผิว ขับสารพิษ เหมาะกับคนที่ต้องการฟื้นฟูให้ผิวแข็งแรงขึ้น ลดสิว ผดผื่น
- Filorga / Revs : เน้นเติมความชุ่มชื้นให้ผิว แก้ปัญหาผิวขาดน้ำ ผิวแห้งกร้าน แต่งหน้าไม่ติดเหมาะสำหรับคนที่มีผิวแห้งกร้าน ผิวขาดน้ำ ต้องการบำรุงผิวให้อิ่มน้ำ ดูสุขภาพดี
- Tensonez : เน้นบำรุงผิวกระจ่างใส ลดจุดด่างดำ แก้ปัญหาผิวหมองคล้ำ ผิวโทรม เหมาะสำหรับคนที่ต้องการลดจุดด่างดำ รอยแดง รอยดำสิว ปรับสีผิวให้ดูสม่ำเสมอ
- Alpha arbutin : เน้นลดฝ้าโดยตรง
- Neo Glutanex Glow : มีจุดเด่นเรื่องผิวขาวอมชมพู ชุ่มชื้น ลดริ้วรอย ฝ้า กระ หลุมสิว กระชับรูขุมขน
หากคนไข้ต้องการแก้ปัญหาผิวที่ตรงจุด ก่อนฉีดควรให้หมอประเมินสภาพผิว เพื่อเลือกสูตรเมโสหน้าใสที่เหมาะสมตามสภาพผิวของแต่ละคนครับ
รักษาสิวหัวดำ ใช้เวลานานแค่ไหนถึงจะเห็นผล ?
การรักษาสิวหัวดำอาจใช้เวลาประมาณ 3-6 สัปดาห์ขึ้นไปครับ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสิวแต่ละบุคคล รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การดูแลตัวเองระหว่างเป็นสิว การรับประทานอาหาร การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เป็นต้น
วิธีป้องกันการเกิดสิวหัวดำ
- ควรล้างหน้าด้วยผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่มีความอ่อนโยน เหมาะสำหรับสภาพผิว ไม่ก่อให้เกิดการ อุดตันเพิ่ม หรือทำให้ผิวหน้าแห้งตึง ควรล้างหน้าด้วยวิธี Double Cleansing เพื่อล้างคราบเครื่องสำอาง สิ่งสกปรกออก อย่างหมดจด
- เลี่ยงอาหารประเภทไขมันสูง ของทอด ของมัน ของหวาน เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ เพราะเป็นต้นเหตุทำให้ผิวเสียความสมดุล
- ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ผัก ผลไม้ ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้ผิว
- ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด เพื่อควบคุมระดับฮอร์โมนให้ทำงานได้ตามปกติ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือลูบหน้าบ่อย ๆ เพราะอาจมีเชื้อโรคและสิ่งสกปรกที่อาจไปกระตุ้นการเกิดสิวอุดตันหัวดำได้
- ไม่ควรปล่อยให้ผิวหน้าแห้ง ควรบำรุงผิวให้แข็งแรง มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ เช่น ใช้มอยส์เจอไรเซอร์ที่มีส่วนผสมของเซราไมด์ (Ceramide) หรือสกินแคร์เสริมชั้นผิว (MVE, MLE) เพื่อให้ผิวแข็งแรงขึ้น สิวเกิดขึ้นน้อยลง มีผิวอิ่มน้ำ มีความสมดุลขึ้น ต่อมไขมันก็จะทำงานลดลง จึงช่วยลดการเกิดสิวอุดตันได้ครับ
- ควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50 ขึ้นไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการทำร้ายผิวจากแสงแดดในระยะยาว
- ปรึกษาแพทย์ทันทีเมื่อเริ่มมีสิวอุดตันหัวดำ ไม่ควรซื้อยามารักษาเอง เพื่อป้องกันสิวลุกลาม
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสิวหัวดำ
สิวหัวดำ บีบได้ไหม ?
สิวหัวดำไม่ควรบีบหัวสิวด้วยมือเปล่าครับ เพราะอาจทำให้เกิดรอยดำสิวหรือหลุมสิวในภายหลังได้ ควรเปลี่ยนไปใช้วิธีกดสิวด้วยเครื่องมือกดสิวแทน โดยกดอย่างเบามือ ไม่ควรเค้น แนะนำให้กดสิวกับผู้เชี่ยวชาญเพื่อลดความเสี่ยงผิวอักเสบครับ
สิวหัวดำบีบไม่ออก เกิดจากอะไร ?
บีบสิวหัวดำไม่ออก เกิดจากหัวสิวอยู่ลึกเกินไป หรือหัวสิวมีขนาดเล็กมากทำให้บีบออกได้ยาก วิธีแก้ไขคือควรไปกดสิวกับผู้เชี่ยวชาญ หรือเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ผลัดเซลล์ผิว เช่น ยาเรตินอยด์ (Retinoids), เรตินอล (Retinal) หรือกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) เพื่อละลายหัวสิวให้กดออกง่ายขึ้น
เป็นสิวหัวดำ แข็ง ๆ อันตรายไหม ?
สิวหัวดำจัดอยู่ในประเภทของสิวชนิดไม่รุนแรง จึงไม่เป็นอันตรายครับ เพราะภายในหัวสิวไม่ได้มีเชื้อโรคหรือแบคทีเรียสะสมอยู่ จึงไม่มีการอักเสบที่รุนแรง ถือว่ารักษาง่ายกว่าสิวชนิดอื่น ๆ
เป็นสิวหัวดำ ไปหาหมอดีไหม ?
หากใครมีสิวหัวดำแล้วเกิดความกังวล ไม่มีความรู้มากพอในการรักษาสิว สามารถไปพบแพทย์ผิวหนังได้ทันทีครับ ไม่จำเป็นต้องรอให้มีสิวหลายเม็ด หากรีบไปปรึกษาแพทย์ แพทย์จะประเมินบริเวณที่เป็นสิวและทำการรักษาอย่างถูกต้อง ก็จะให้ผลการรักษาที่ดีและหายไวขึ้น
สิวหัวดำ หายเองได้ไหม ?
สิวหัวดำไม่สามารถหายเองได้ครับ จำเป็นต้องกดออก หากปล่อยไว้หัวสิวจะยิ่งฝังลึก กลายเป็นหัวดำแข็ง ๆ กดไม่ออก ซึ่งอาจทำให้เกิดหลุมสิวในอนาคตได้ แต่หากใครที่กดสิวออกหมดแล้ว แต่สิวกลับมาขึ้นซ้ำอีกในตำแหน่งเดิม เป็นสิวหัวดำเรื้อรัง หรือใช้ยาสิวแล้วไม่เกิดการตอบสนอง อาจต้องไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรักษาสิวด้วยวิธีอื่น ๆ ที่เหมาะสมแทนครับ
เสริมจมูกมา กดสิวหัวดำที่จมูกได้ไหม ?
หลังเสริมจมูกใหม่ ๆ หมอไม่แนะนำให้กดหรือบีบสิวหัวดำออกครับ เพราะอาจทำให้เนื้อเยื่อเกิดการอักเสบได้ แนะนำให้ใช้ยาแต้มสิวหรือยาละลายหัวสิวแทน
สรุป
สิวหัวดำ หรือสิวอุดตันหัวดำ เมื่อเป็นแล้วสามารถรักษาได้ครับ คนไข้สามารถนำวิธีรักษาสิวหัวดำที่หมอได้แนะนำไปในข้างต้นไปปรับใช้ตามความเหมาะสม และควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดสิว เช่น ควรรักษาความสะอาดผิวหน้าอยู่เสมอ ใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่เหมาะกับสภาพผิว เพื่อลดการอุดตันครับ
ทั้งนี้หากใครที่มีสิวหัวดำระดับรุนแรง ควรไปพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อแพทย์จะได้หาสาเหตุและวิธีรักษาสิวหัวดำอย่างเหมาะสมครับ
เอกสารอ้างอิง
- Debra Jaliman (May 17, 2021) Retinoid Treatment and Your Skin. WebMD. https://www.webmd.com/beauty/retinoid-gel-and-cream-treatments
- Jabeen Begum (September 24, 2021) Acne Treatments That Work WebMD. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/acne/acne-treatments-that-work
สามารถ comment สอบถามเข้ามาด้านล่างได้เลยนะครับ หมอตอบเองครับ