หากพูดถึงแผลคีลอยด์ หมอเชื่อว่าหลาย ๆ คนคงรู้จักมาบ้างแล้ว รอยแผลเป็นคีลอยด์เป็นหนึ่งในปัญหาผิวที่หลายคนไม่อยากเจอ เพราะสร้างปัญหาให้กับคนไข้ ทั้งทางด้านความสวยงามและอาการไม่พึงประสงค์ เช่น อาการคัน เจ็บที่แผล ในบทความนี้หมอได้รวบรวมความรู้เกี่ยวกับ keloid scar เพื่อใช้เป็นแนวทางในการป้องกัน ดูแล และรักษาแผลคีลอยด์อย่างถูกวิธี
สารบัญ คีลอยด์
คีลอยด์ คืออะไร ?
คีลอยด์ คือ ประเภทของรอยแผลเป็นชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นแผลนูน แดง มีการขยายใหญ่ออกนอกขอบเขตบาดแผลเดิม อาจมีอาการคัน เจ็บ และรู้สึกผิวตึงรั้งร่วมด้วย เมื่อทิ้งไว้จะคงอยู่และไม่ยุบแบนราบลงได้เอง ยิ่งไปกว่านั้น ในบางรายอาจมีขนาดโตขึ้นกว่าเดิมอีกครับ แม้ว่าแผลคีลอยด์ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ แต่ส่งผลด้านความสวยงามและสภาพจิตใจได้ครับ
สาเหตุของการเกิดคีลอยด์
สาเหตุของการเกิดแผลเป็นคีลอยด์เกิดจากการตอบสนองที่มากเกินกว่าปกติ ในการซ่อมแซมของผิวหนัง คือมีการสร้างเนื้อเยื่อและคอลลาเจนมากเกินไป จนเกิดความไม่สมดุลของคอลลาเจนและเกิดเป็นแผลนูนขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงว่าทำไมถึงเกิดกระบวนการซ่อมแซมของผิวหนังที่ตอบสนองมากผิดปกติ
แต่พบว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดแผลคีลอยด์ มักจะเกิดในผู้ป่วยที่มีผิวสีเข้ม เช่น คนแอฟริกา และคนเอเชีย มีประวัติทางพันธุกรรม มีคนในครอบครัวเป็นแผลคีลอยด์ได้ง่าย หรือบางคนเกิดแผลคีลอยด์ตั้งแต่วัยเด็ก จะมีแนวโน้มการเกิดแผลคีลอยด์ง่ายในอนาคตครับ
นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน โดยพบว่าในหญิงตั้งครรภ์จะมีโอกาสเป็นคีลอยด์มากกว่าหญิงปกติ ในขณะที่หญิงที่เข้าสู่วัยทองจะมีโอกาสเกิดคีลอยด์ได้น้อยลง
คีลอยด์ เป็นตำแหน่งไหนได้บ้าง ?
คีลอยด์สามารถเกิดได้ในตำแหน่งที่เป็นแผลทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณผิวหนังที่มีการตึงรั้งเยอะ จะมีโอกาสเกิดแผลคีลอยด์มากขึ้น เช่น
- บริเวณหัวไหล่
- หน้าอกและหลังส่วนบน คีลอยด์จากสิว หรือ จากการบีบสิว
- ใบหู ตั้งแต่ติ่งหูจนถึงกระดูกอ่อนของใบหู จากการเจาะหู ส่งผลให้เกิดแผลคีลอยด์ที่หูได้
คีลอยด์ อันตรายไหม ?
แผลคีลอยด์ไม่อันตรายครับ ถึงแม้บางตำแหน่งจะเป็นก้อนแผลมีขนาดใหญ่ขึ้น ก็จะไม่พบการเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ที่ไม่ดีหรือมะเร็งแต่อย่างใด แต่ส่งผลเรื่องของความสวยงาม จนทำให้ขาดความมั่นใจในการเผยผิว จึงทำให้หลาย ๆ คนพยายามรักษา รวมถึงป้องกันการเกิดแผลคีลอยด์ที่อาจจะขยายใหญ่ขึ้น
วิธีการรักษาคีลอยด์ มีอะไรบ้าง ?
แนวทางในการรักษาแผลเป็นคีลอยด์มีหลายวิธีครับ ขึ้นอยู่กับลักษณะของแผลคีลอยด์ที่เกิดขึ้นในแต่ละบุคคล เช่น
- การฉีดยาสเตียรอยด์ (intralesional corticosteroid injections)
การฉีดยาสเตียรอยด์ในจุดที่เกิดแผลคีลอยด์ เพื่อหวังผลให้แผลคีลอยด์ยุบลง และผิวนุ่มขึ้น ลดอาการเจ็บ และคันลงได้ โดยแพทย์จะใช้ยา Triamcinolone acetonide 10-40 มก./มล. ฉีดเข้าไปในบริเวณที่เป็นแผลคีลอยด์โดยตรง ตัวยามีฤทธิ์ลดการอักเสบ กดการทำงานของเซลล์ผิวทุกชนิด ถือเป็นวิธีการรักษาแผลคีลอยด์ที่เป็นมาตรฐาน ในบางเคสสามารถผสมยาชาเพื่อลดความเจ็บในระหว่างฉีดได้ครับ
การฉีดคีลอยด์กี่วันเห็นผล ? วิธีนี้จะต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา หากตอบสนองได้ดี ครั้งแรกก็สามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงครับ และจะต้องกลับมาฉีดซ้ำ เฉลี่ยฉีดห่างกันประมาณ 4-6 สัปดาห์จะช่วยให้แผลยุบตัวลง
กรณีที่สงสัยว่า ฉีดคีลอยด์กี่ครั้งหาย ? หรือ ฉีดคีลอยด์กี่วันหาย ? จริง ๆ ขึ้นอยู่กับบุคคลครับ หากใช้ยาไปแล้ว 4 ครั้งยังไม่ดีขึ้น แสดงว่าไม่ได้ผล และควรเปลี่ยนไปใช้วิธีอื่นแทนครับ
- การผ่าตัด
การผ่าตัดตกแต่งแผลเป็นคีลอยด์ ทำเพื่อลดขนาดแผล และลดเนื้อนูน โดยเฉพาะรักษาคีลอยด์ที่หู ที่มีเนื้อนูนออกมา โดยทั่วไปการรักษาคีลอยด์ที่หูด้วยตัวเองค่อนข้างทำได้ยาก วิธีการผ่าตัดจึงเป็นที่นิยม โดยอาจทำหลังจากที่คนไข้เคยใช้ยาฉีดคีลอยด์มาแล้ว แต่ผลลัพธ์ไม่ดีเท่าที่ควร และทำร่วมกับการรักษาวิธีอื่น ๆ เช่น การเลเซอร์ และใส่ผ้ายืดกดทบแผล เพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ ทั้งนี้การผ่าตัดมีทั้งตัดออกได้ทั้งหมด และตัดได้บางส่วน ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ครับ
- การรักษาด้วยเลเซอร์
การรักษาด้วยเลเซอร์คีลอยด์ เป็นอีกทางเลือกในการรักษาที่ได้รับความนิยม โดยใช้เลเซอร์ความยาวช่วงคลื่นที่มีผลต่อหลอดเลือด ลงใต้ผิวหนังเพื่อให้เกิดการเรียงตัวของคอลลาเจน ทำให้แผลยุบลง สีจางลง ต้องทำหลายครั้งครับ ถึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน
- ผ้ายืดที่ตัดเพื่อกดทับบาดแผล (Pressure garment therapy)
การใส่ผ้ายืดรัดจะใส่ทับบริเวณแผลคีลอยด์ผ่าตัด ให้แนบแน่น โดยทำหลังจากที่คนไข้ทำการผ่าตัดมาแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้แผลนูนซ้ำครับ
ทั้งนี้ทุกวิธีที่กล่าวมามีทั้งข้อดี-ข้อเสีย เช่น การฉีดยาสเตียรอยด์อาจทำให้เกิดผิวหนังฝ่อบาง มีอาการปวดจากการฉีดยา ส่วนผ้ายืดรัดอาจสร้างความไม่สะดวกในการเคลื่อนไหว รวมถึงวิธีการรักษาอาจจะต้องทำหลายวิธีรวมกันครับ
รักษาแผลคีลอยด์ด้วยตัวเองได้ไหม ?
การรักษาแผลคีลอยด์ด้วยตัวเอง สามารถทำได้ในกรณีที่แผลเพิ่งเริ่มนูนเล็กน้อยครับ เพราะเป็นช่วงที่แผลยังตอบสนองการรักษา สามารถใช้ Silicone gel ในรูปแบบแผ่นปิดทับที่แผลโดยตรง เพื่อไม่ให้เซลล์ขยายยืดตัวขึ้น และยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิวหนัง โดยควรปิดไว้ให้นานที่สุดอย่างน้อย 12 ชั่วโมงต่อวัน สามารถแกะออกเวลาอาบน้ำครับ
ส่วนจะใช้แผ่นแปะคีลอยด์ยี่ห้อไหนดี ? สามารถเลือกซื้อได้หลากหลายยี่ห้อครับ และมีหลายขนาด หลายราคาให้เลือก มีขายตามร้านขายยาชั้นนำทั่วไป
วิธีปฏิบัติตัวไม่ให้เกิดคีลอยด์
สาเหตุหลักของการเกิดแผลคีลอยด์มาจากการเกิดแผล วิธีป้องกันที่ดี คือพยายามอย่าให้เกิดแผลครับ โดยเฉพาะในตำแหน่งที่มีความเสี่ยงสูง แต่หากเกิดแผลแล้ว ควรดูแลตัวเองดังนี้
- ควรหลีกเลี่ยงการลูบ จับบ่อย ๆ บริเวณที่เกิดแผล
- ไม่แกะสะเก็ดแผลออกก่อน เพราะจะส่งผลต่อการซ่อมแซมผิว ทำให้แผลหายช้าได้
- พยายามดูแลแผลไม่ให้เกิดการอักเสบมาก เพราะแผลที่มีการอักเสบมาก น้ำเหลืองไหลซึม หรือแผลที่มีการติดเชื้อ เป็นหนอง จะส่งผลทำให้แผลหายได้ช้า จึงมีโอกาสเกิดแผลคีลอยด์ได้มากขึ้น
- เมื่อแผลแห้งควรใช้ยาทารักษารอยแผลเป็น ช่วยให้แผลมีความชุ่มชื้น มีส่วนประกอบของ Silicone gel หรือสารสกัดจากหัวหอม (Allium cepa) ที่มีฤทธิ์ลดอาการอักเสบ เป็นต้น
“ ข้อควรรู้ : ปัจจัยที่มีผลต่อการหายของแผล ได้แก่ การสูบบุหรี่ อุณหภูมิ ความชื้น โดยพบว่าแผลจะหายได้ดีขึ้นในสภาวะแวดล้อมที่มีอุณหภูมิที่อบอุ่นได้ดีกว่าอากาศเย็น ความชื้น ความเป็นกรดด่าง ที่เหมาะสม และออกซิเจนจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นเช่นกันครับ ”
รักษาคีลอยด์ที่ไหนดี ?
หากต้องการรักษาแผลคีลอยด์ จะเลือกรักษาคีลอยด์ที่ไหนดี ? สิ่งสำคัญคือการเลือกโรงพยาบาล หรือสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน หมอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนังโดยตรง เพื่อวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้อง เหมาะสม โดยพิจารณาดังนี้
- เลือกคลินิกที่ได้มาตรฐาน
ปัจจุบันมีคลินิกรวมถึงโรงพยาบาลที่ให้บริการรักษาคีลอยด์จำนวนมาก หมอแนะนำให้ควรเลือกคลินิกหรือโรงพยาบาลที่มีความน่าเชื่อถือ มีการเปิดให้บริการอย่างถูกต้อง มีใบอนุญาตประกอบกิจการที่การันตีความปลอดภัย
- เลือกคลินิกที่มีวิธีการรักษาหลากหลาย
หลายคลินิกมีการทำการโฆษณาวิธีการรักษาที่เป็นจุดขายของตัวเอง เพื่อความคุ้มค่า ปลอดภัยของคลินิกนั้น ๆ ควรมีการนำเสนอวิธีการรักษาทุกรูปแบบกับคนไข้ มีวิธีการที่ช่วยปรับแต่งแผลคีลอยด์ให้เรียบเนียนสวยงามมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย
- เลือกคลินิกที่มีการติดตามผล
การรักษาแผลคีลอยด์ที่ดี คลินิกจะต้องมีการนัดติดตามผล รวมถึงให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวทั้งก่อนทำ-หลังทำอย่างใกล้ชิด คนไข้สามารถสอบถามข้อสงสัยกับหมอที่รักษาเคสตัวเองได้ เพื่อให้ผลการรักษาออกมาดีที่สุด
- เดินทางสะดวก มีรีวิวที่น่าเชื่อถือ
การเลือกคลินิกรักษาคีลอยด์ ควรเลือกคลินิกที่เดินทางสะดวก มีที่จอดรถ หรือการคมนาคมสะดวก มีรีวิวที่น่าเชื่อถือ หลากหลายเคส โดยควรสังเกตด้วยว่า Before-After น่าเชื่อถือหรือไม่ หรือมีการปรับแต่งภาพ เพื่อทำการโฆษณา
สรุป
สำหรับใครที่มีปัญหาแผลคีลอยด์และกำลังต้องการรักษา วิธีการรักษามีหลายวิธีตามที่หมอแนะนำไว้ข้างต้น ซึ่งอาจจะต้องทำหลายวิธีร่วมกัน เพื่อให้แผลดูดีขึ้น แม้จะไม่ราบเรียบสนิทเหมือนผิวเนื้อปกติ แต่ก็จะดีขึ้นมาก สามารถช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่คนไข้ได้ครับ
เอกสารอ้างอิง
- Update Managements for Keloid Scar : Suphot Chattinnakorn College of Medicine and Public Health, Ubon Ratchathani University
- https://en.wikipedia.org/wiki/Keloid
สามารถ comment สอบถามเข้ามาด้านล่างได้เลยนะครับ หมอตอบเองครับ