ไขมันทรานส์ TRANS FAT
หลังจากที่ช่วงก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงฯ เกี่ยวกับกรดไขมันทรานส์ (Trans fat acid) ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในโรคหัวใจและหลอดเลือด ทำให้หลายคนตระหนักถึงอันตรายของไขมันทรานส์กันมากขึ้น ในบทความนี้หมอจะสรุปเกี่ยวกับข้อเสียของไขมันทรานส์ ว่าหากได้รับมากไปจะทำให้เกิดผลอะไรบ้าง? อันตรายไหม? และในคนที่มีปัญหาโรคอ้วน ควรระวังหรือมีวิธีลดไขมันอย่างไรบ้างครับ
สารบัญ ไขมันทรานส์
ไขมันทรานส์ คืออะไร ?
กรดไขมันแบ่งออกเป็นหลายชนิด ทั้งกรดไขมันอิ่มตัว กรดไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งไขมันทรานส์เป็นหนึ่งในประเภทของกรดไขมัน ที่เกิดจากการแปรรูปกรดไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated Fatty Acid) ให้กลายเป็นกรดไขมันอิ่มตัว (Saturated Fatty Acid) ด้วยการเติมไฮโดรเจนหรือปฏิกิริยาไฮโดรจิเนชัน เพื่อให้สามารถเพิ่มระยะเวลาเก็บรักษาได้นานขึ้น ไม่เหม็นหืน ไม่เป็นไข ทนความร้อนสูง ซึ่งหากยิ่งผ่านการแปรรูปมากเท่าไหร่ ไขมันทรานส์ก็จะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น เช่น เนยขาว มาการีน ครีมเทียม
ประเภทของไขมันทรานส์
ไขมันทรานส์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามแหล่งที่มา ได้แก่
- ไขมันทรานส์ ที่ได้จากธรรมชาติ ส่วนนี้มักพบได้น้อย เช่น ในเนื้อสัตว์เคี้ยวเอื้อง นม หรือผลิตภัณฑ์จากนม
- ไขมันทรานส์ ที่ได้จากกระบวนการอุตสาหกรรม หรือการปรุงอาหารด้วยความร้อน เช่น ขนมหรืออาหารที่ใช้ เนยขาว มาการีน ครีมเทียม เบเกอรี่ต่าง ๆ รวมไปถึงเฟรนซ์ฟรายส์ แฮมเบอร์เกอร์และขนมกรุบกรอบ
ไขมันทรานส์ นอกจากช่วยยืดอายุของอาหาร รสชาติใกล้เคียงกับไขมันที่มาจากสัตว์ ยังมีราคาถูกกว่าไขมันทั่วไป จึงได้รับความนิยมในวงการอุตสาหกรรมอาหารต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุน
ไขมันทรานส์ อันตรายไหม ?
แม้ดูเหมือนไขมันทรานส์มีประโยชน์และอำนวยความสะดวกได้มากในวงการอุตสาหกรรมอาหาร แต่ไขมันทรานส์เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสุขภาพของคนเราครับ การรับประทานอาหารที่มีไขมันทรานส์ จะเพิ่มไขมันไม่ดีในเลือด (LDL – Cholesterol) และลดไขมันดีในเลือด (HDL – Cholesterol ) นอกจากนี้ยังเพิ่มน้ำหนักและไขมันส่วนเกิน ทำให้รูปร่างเปลี่ยนไป อ้วนขึ้น
หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกเริ่มมีการแบนไขมันทรานส์ออกจากอาหารต่าง ๆ หรือกำหนดให้ต้องติดฉลากบอกปริมาณไขมันทรานส์ที่ใช้ ซึ่งไขมันทรานส์เป็นต้นเหตุ และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ดังนี้
- โรคหัวใจ
- โรคหลอดเลือดหัวใจ
- โรคอ้วน
- โรคเบาหวาน
- มะเร็งเต้านม
- โรคตับ
“ ข้อควรรู้ : องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ (FAO) แนะนำให้บริโภคไขมัน ทรานส์ไม่เกิน 1% ของค่าพลังงานต่อวัน และอาหารที่เขียนฉลากว่า Trans Fat 0% ก็ใช่ว่าจะไม่มีไขมันทรานส์เลยครับ เนื่องจากกฎหมายบางประเทศ อนุญาตให้เขียน Trans Fat 0% หรือ 0 gram trans fat ได้ หากมีปริมาณไขมันทรานส์ไม่ถึง 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ”
อาหารที่มีไขมันทรานส์
อาหารที่มีไขมันทรานส์และควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ เนยขาว มาการีน ครีมเทียม นมข้นหวาน นมข้นจืด โดนัท ขนมเค้ก พาย คุกกี้
เฟรนซ์ฟรายส์ ไก่ทอด ป๊อปคอร์น แฮมเบอร์เกอร์ ขนมกรุบกรอบ ฯลฯ สำหรับวิธีเลี่ยงไขมันทรานส์ที่อาจเจอได้ในชีวิตประจำวัน ผู้บริโภคควรปฏิบัติ ดังนี้
- อ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อ เช็คว่ามีไขมันทรานส์หรือไม่
- เลือกใช้น้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนประกอบของ Partially Hydrogenated, Hydrogenated Oil
- ลดการทานเนื้อสัตว์ติดมัน หันมาทานผัก ผลไม้มากขึ้น
- เลือกเนยแท้แทนเนยเทียม หรือใช้เนยเทียมชนิดเหลว ไม่แข็งมาก (ยิ่งแข็งยิ่งมีไขมันทรานส์มาก)
วิธีกำจัดไขมันทรานส์จากร่างกาย
ด้วยการใช้ชีวิตในปัจจุบันอาจทำให้เราหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ได้ยาก แต่ยังสามารถลดปริมาณหรือกำจัดส่วนที่เป็นไขมันเลวออกจากร่างกายได้ครับ โดย
- กินไขมันดีให้มากขึ้น ได้แก่ ไขมันจากปลา ธัญพืช น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันดอกทานตะวัน
- ทานอาหารที่ช่วยลดระดับไขมันในเส้นเลือด เช่น ถั่ว ธัญพืช โฮลเกรน เมล็ดฟักทอง กล้วย แก้วมังกร ลุกพรุน แอปเปิ้ล
- เลือกอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น ผักใบเขียว ผักและผลไม้ที่มีสีเหลือง ม่วง แดง ส้ม ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้ระดับไขมันเลวในร่างกายกายลดน้อยลงได้
และหากใครกำลังมีปัญหาความอ้วน ไขมันส่วนเกินจากการบริโภคไขมันทรานส์มากเกินไป อาจใช้หัตถการทางการแพทย์ เช่น การฉีดเมโสแฟต การดูดไขมัน การทำ Coolsculpting ควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมการทานอาหาร และการใช้ชีวิต จะช่วยให้ได้รูปร่างที่สวยงาม ควบคู่ไปกับการมีสุขภาพดีได้ครับ
อ่านบทความเพิ่มเติม : CoolSculpting VS การดูดไขมัน VS การสลายไขมันส่วนเกินด้วยวิธีต่าง ๆ
สรุป
สำหรับไขมันทรานส์ หากเลี่ยงได้แนะนำให้เลี่ยงครับ หรือพยายามบริโภคในปริมาณที่น้อยที่สุด เพื่อเป็นการรักษาสุขภาพ ไม่มีไขมันส่วนเกิน ไม่เกิดการสะสมของไขมันจนอ้วนขึ้น มีห่วงยาง หรือใครที่รู้สึกมีปัญหาสุขภาพ มีความเสี่ยงจะเป็นโรคต่าง ๆ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อที่จะได้ช่วยแก้ไขได้อย่างทันท่วงทีครับ